ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่าง "มด" กับ "เห็ดรา" และ "เชื้อรา" กับนิยามการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งหนึ่งเพื่อการเจริญงอกงามของอีกสิ่งหนึ่งที่สุดแสนจะเป็นความสัมพันธ์ที่โคตรจะลงตัวที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ

บทความนี้เป็นเรื่องราวของ มดตัดใบไม้ (Leafcutter Ant) กับเหล่าเห็ดรา (Fungi) ซึ่งอาจจะรวมไปจนถึงเชื้อรา (Fungus) ได้อีกด้วย โดยนักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างมดตัดใบไม้กับเห็ดรา ระบุว่านี่เป็นความสัมพันธ์แบบ "เกื้อกูล" (Mutualism) คือ ทั้งมดและรา ต่างก็ได้ประโยชน์จากการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียมิได้ เห็ดราแบ่งน้ำเลี้ยงเส้นใยบางส่วนให้อาหารแก่มด ขณะที่มดก็มีหน้าที่หาใบไม้มาเป็นปุ๋ยให้เห็ดรา และคอยประคบประหงมดูแลราให้เจริญงอกงาม มีรายงานทางวิทยาศาสตร์ระบุว่า มดจะคอยปล่อยสารเคมีบางอย่างออกมาฆ่าเชื้อแบคทีเรียที่เป็นศัตรูของราด้วย เหมือนชาวไร่ ชาวสวน คอยดูแลพืชผลด้วยความเอาใจใส่ ซ้ำยังพบอีกว่า ถ้าหากมดไม่สามารถเพาะเลี้ยงเห็ดราให้เจริญงอกงามได้ หรือเห็ดราเกิดแห้งตายหมด มดตัดใบไม้ก็จะขาดอาหารและตายกันหมดด้วย

ถ้าหากลองเปรียบเทียบกับครอบครัวของพวกเราแล้ว พบว่าครอบครัวเรา ซึ่งอาจจะมีสมาชิกอยู่ 5 - 6 คน ก็ถือว่ามีสมาชิกมากแล้ว แต่ในครอบครัวของมดนั้น มีเป็นจำนวนมาก บางครั้งพวกมันหลายล้านตัวอาศัย อยู่ด้วยกันอย่างเป็นปกติสุข

ความมหัศจรรย์ของมดไม่ได้จบเพียงแค่นี้ เพราะในความจริงที่พวกมดอยู่กันตามปกติ ไม่มีปัญหาต่อกัน ไม่ยุ่งเหยิง ไม่วุ่นวาย หรือทำการฝ่าฝืนคำสั่ง พวกมันอาศัยอยู่ด้วยกันอย่างมีระเบียบแบบแผนอย่างมาก ทุกตัวจะให้การยอมรับกฎเกณฑ์ของสังคมมดเป็นอย่างดี แต่มีมดชนิดหนึ่งสามารถสร้างอาหารกินเองได้ สามารถรู้การใช้งานเกี่ยวกับเทคโนโลยีภาคการเกษตร ได้ มานับ 50 ล้านปีทีเดียว ชื่อของพวกมันก็คือ "มดนักตัดใบไม้"

ในทวีปอเมริกามีมดที่ "ปลูกอาหาร" ไว้กินเอง ชื่อว่า มดนักตัดใบไม้ (Leafcutter Ant) อันเป็นมดที่อยู่สกุล (Genus) Atta มดจำพวกนี้ทำสวนเห็ดราในห้องขนาดใหญ่ในรังใต้ดินของมัน แล้วเห็ดราพวกนี้ก็ไม่ยอมเติบโตในสถานที่อื่นอีกด้วย จึงได้ชื่อว่า "Attamyrces" ซึ่งเป็นญาติกับพวกเห็ดกินได้ มดนักตัดใบไม้จะหอบเศษใบไม้กลับรังเพื่อ "ปลูกหรือเพาะ" เห็ดในห้องต่าง ๆ ภายในรังของพวกมัน

ทางด้าน เอ็ดเวิร์ด วิลสัน (Edward Osborne Wilson ปรมาจารย์ด้านมด และเป็นผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มดที่ดีที่สุดในโลก) เป็นคนค้นพบว่ามดนักตัดใบไมัรังที่เขาเก็บมาเลี้ยงไว้ในห้องปฏิบัติการ ทำงานเหมือนกับเป็นโรงงาน มดแต่ละตัวแบ่งหน้าที่กันทำอย่างลงตัว ไม่มีการก้าวก่ายกันสายพานโรงงานของมดรังนี้ อาจเขียนเรียงลำดับได้ว่า

1. มดงานที่ออกไปหาใบไม้กลับมาที่รัง มันวางของที่ได้มาลงบนพื้น

2. มดงานตัวเล็กกว่าเก็บชิ้นใบไม้นั้นไปตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ

3. มดอีกพวกรับใบไม้ชิ้นเล็กพวกนั้นมานวดบดจนเป็นก้อนใบไม้ขนาดจิ๋ว เสร็จแล้วยกไปกองรวมกันให้ราขึ้นฟู ดูเป็นฟองน้ำ

4. มดขนาดเล็กลงไปอีกจะดูว่า "ก้อนรา" บริเวณไหนอัดแน่นกันเกินไป มันจะคอยจัดวางยักย้ายให้อยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม

5. มดอีกกลุ่มจะนำราที่ได้ที่แล้ว มาบรรจุหีบห่อให้เป็นก้อน ทำความสะอาด แล้วส่งป้อนเพื่อนร่วมรัง

นับเป็นความมหัศจรรย์มากมาย ที่มดพวกนี้ได้สร้างแหล่งอาหารเลี้ยงตัวเอง ด้วยการดำรงชีวิตด้วยการตัดใบไม้ไปเลี้ยงเห็ดรา ในรังของมัน แล้วก็นำเชื้อราที่ได้ไปเป็นอาหารของตัวอ่อน และตัวของมดเอง จึงถือว่าเป็นสัตว์ชนิดแรกของโลกที่รู้จักเทคนิคการทำฟาร์ม

งานที่ถือว่าเป็นหน้าที่หลักของมดงาน ก็คือแต่ละวัน ๆ จะต้องออกไปเที่ยวตัดใบไม้แล้วขนมาที่รัง

มดเหล่านี้ไม่ได้กินใบไม้เข้าไปโดยตรง แต่มันเอาเศษใบไม้สดเหล่านี้ไปเก็บไว้ในรังของพวกมัน โดยที่เศษใบไม้จะถูกเคี้ยวเป็นชิ้นละเอียด แล้วผสมกับมูลมดเพื่อเป็นเชื้อสำหรับเพาะรา foraged ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดพิเศษที่ไม่พบที่อื่นใดนอกจากในรังมดชนิดนี้เท่านั้น ราพิเศษนี้แหละที่เป็นอาหารของมดอีกที

มดตัดใบไม้ จะมีกราม (mandibles) และถ้ากรามของมดพวกนี้ลดความคมลง ก็เปลี่ยนหน้าที่เป็นขนใบไม้ โดยมดงาน จะทำหน้าที่ตัดใบไม้จะกัดใบไม้ด้วยกราม (mandibles) ของมัน คล้ายๆ กับเราตัดผ้าด้วยกรรไกร ซึ่งแน่นอนว่าในที่สุดความคมมันก็จะลดลงไปเรื่อยๆ ถ้าเป็นเราก็คือเปลี่ยนกรรไกรใหม่ แต่มดมันถอดกรามไม่ได้ อีกอย่างไม่มีอะไหล่เปลี่ยนด้วย ทีมวิจัยที่นำโดย Robert Schofield แห่ง University of Oregon ได้ค้นพบว่า เมื่อฟันของมดงานพวกนี้ทื่อเกินกว่าจะตัดใบได้อย่างมีประสิทธิภาพ มดงานจะสลับไปทำหน้าที่อื่นๆ เช่น ขนใบไม้กลับรัง ปล่อยให้มดงานตัวอื่นที่กรามยังใหม่อยู่เข้ามารับหน้าที่แทน

ทั้งหมดนี้ ราชินีจะเป็นผู้ควบคุมดูแลจำนวนประชากรให้เหมาะสมตามปริมาณอาหารที่มีอยู่ โดยไม่ออกไข่มาเป็นมดทหารมากเกินไป ไม่อย่างนั้นพวกมันจะกินอาหารจนมดงานหาอาหารให้ไม่ทัน จนระบบรวน และจะเลยเถิดไปถึงขนาดเป็นหายนะของรังทั้งหมดก็ได้

คุณนายราชินีจึงไม่มีสิทธิ์คำนวณพลาด แต่โอกาสพลาดของราชินีก็มีน้อยมาก เพราะทุกอย่างในรังถูกขับเคลื่อนด้วยระบบที่มีเสถียรภาพสุดยอด มดแต่ละตัวไม่มีทางเบี้ยวหรือนัดหยุดงานได้เลย หากมีมดสักตัวเกิดเบี้ยวงานขึ้นมา สายพานโรงงานของพวกมันจะติดขัด ทำให้เกิดสถานการณ์ "กดดัน" ขึ้นภายในรังได้

ระบบอันสมบูรณ์ที่ว่านี้จึงดูเหมือนระบบการทำงานของร่างกายเดียวกันมากกว่าจะเป็น "สังคม" ตามความคิดแบบมนุษย์ เพราะในสังคมของมนุษย์ที่รวมกันเป็นกลุ่มก้อนนั้น คนแต่ละคนยังคงเอกลักษณ์และความสนใจส่วนตัวที่แตกต่างกันไป แต่มดไม่เคยแสดงความสนใจส่วนตัวออกมาให้ใครเห็นเลย ทุกตัวทำงานตามหน้าที่ไปในทิศทางเดียวกันเป็น "ขบวนแถวของชีวิตซึ่งกำลังดำเนินอย่างสง่าผ่าเผยและภาคภูมิ" เหมือนมันรู้ว่า "ในการประกอบการงานนั้น คือการที่เธอพวกมด) รักชีวิตอย่างแท้จริง" นั่นเอง

น่าทึ่งยิ่งไปกว่านั้นก็คือ การที่มดงานเปลี่ยนหน้าที่ และตำแหน่งที่อยู่ในรัง จากศูนย์กลางขยับออกไปข้างนอกเรื่อย ๆ เมื่อมันแก่ขึ้นนั้น ก็เป็นดังการเปลี่ยนแปลงรูปร่างและกระบวนการทางเคมีภายในร่างกายของสิ่งมีชีวิตเลย

นอกจากนี้ราจากมดดังกล่าวยังสามารถหลั่งยาปฏิชีวนะที่ได้มาจาก แอคติโนแบคทีเรีย (Actinobacteria) เป็นกลุ่มแบคทีเรียแกรมบวก พบได้ทั่วไปในธรรมชาติมีบทบาทในการย่อย สลาย และผลิตสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพได้มาก ซึ่งอยู่สกุล Pseudonocardia เป็นจุลินทรีย์ที่อาศัยในมดแบบพึ่งพากัน (mutualistic) อยู่ในต่อม metapleural ของตัวมด โดย Actinobacteria ที่มดชนิดนี้สร้างขึ้นมาในโลกถูกนำมาใช้เป็นยาปฏิชีวนะในโลกปัจจุบันอีกด้วย

เรื่องของมดชนิดนี้ ทำให้สามารถศึกษาต่อไปอีกว่า เราจะหาทางป้องกันการเสื่อมสภาพของวัสดุที่มีขนาดเล็กๆ ได้อย่างไร ขนาดว่าวิวัฒนาการนับล้านๆ ปีได้ช่วยเสริมความแข็งแกร่งให้กับกรามของมดแบบสุดๆ แล้ว (กรามของมดมีส่วนประกอบของสังกะสีอยู่ด้วย) มดยังหลีกเลี่ยงปัญหานี้ไม่พ้นทางข้างหน้าของวิทยาการเทคโนโลยีวัสดุคงไม่มีคำว่าง่ายเลยทีเดียว

นี้จึงเป็นเรื่องราวของมด ที่ถูกถ่ายทอดออกมาได้อย่างดี เป็นการเรียบเรียงบทความ และถูกนำมาเสนอเพื่อเพิ่มองค์ความรู้ เพิ่มแนวคิดในแบบใหม่ๆสำหรับการต่อยอดไปในอนาคต หากวันหนึ่งมนุษย์ที่อยู่ในสังคมแห่งไซคีเดลิกอาจจะนำมดไปใช้ในการพัฒนาต่อยอดทำกับเห็ดได้ซึ่งในปัจจุบันนั้นประเทศไทยเราก็ยังคงไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับเห็ดวิเศษกับมดชนิดนี้อย่างเป็นจริงเป็นจังในเชิงวิชาการ การประยุกต์ใช้ก็ยังอยู่ในวงจำกัด รอวันที่สิ่งเหล่านี้ได้กลับคืนมาอีกครั้งไม่วันใดก็วันหนึ่งอย่างแน่นอน